ทำความรู้จักกับ เชื้อเพลิงอัดเม็ด ว่าคืออะไร และมีกระบวนการผลิตอย่างไรบ้าง

อย่างที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันนี้โลกของเราเริ่มเข้าสู่ช่วงที่พลังงานต่าง ๆ เริ่มลดจำนวนน้อยลงเรื่อย ๆ เนื่องจากว่าพลังงานที่ใช้เป็นแบบที่ใช้แล้วหมดไป ไม่สามารถใช้ไปได้ตลอด ด้วยเหตุนี้เองจึงจำเป็นมาก ๆ ที่จะต้องมีการหาพลังงานอื่น ๆ เข้ามาทดแทนพลังงานที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งพลังงานที่ได้จากเชื้อเพลิงอัดเม็ดก็ถือว่าเป็นพลังงานทางเลือกที่ตอนนี้ถือว่าตอบโจทย์ความต้องการได้มากที่สุด โดยเชื้อเพลิงชนิดนี้จะได้มาจากวัตถุดิบตามธรรมชาติ เช่น เหง้ามันสำปะหลัง, เศษไม้, ซังข้าวโพด และอื่น ๆ อีกมากมาย จากการนำวัตถุดิบธรรมชาติมาใช้จึงทำให้เป็นพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาก ๆ  

กระบวนการผลิตเชื้อเพลิงอัดเม็ด มีการทำอย่างไรบ้าง 

ในส่วนของกระบวนการผลิตเชื้อเพลิงอัดเม็ดนั้น จะมีแบ่งกระบวนผลิตออกเป็น 6 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้ 

1. กระบวนการย่อย (crushing process) คือ กระบวนการที่นำเอาวัตถุดิบที่มีขนาดไม่เหมาะสม มาทำให้มีขนาดตามที่ต้องการ ก่อนการนำไปผลิตในขั้นตอนต่อไป 

2. กระบวนการลดความชื้น (drying process) คือ กระบวนการที่ลดความชื้นของวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ทำเชื้อเพลิง เพื่อให้วัตถุดิบมีความชื้นที่เหมาะสมต่อการนำมาใช้ทำเชื้อเพลิงมากที่สุด 

3. กระบวนการผสม (mixing process) คือ กระบวนการที่จะต้องนำเอาวัตถุดิบตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป เข้ามาผสมรวมให้เข้ากัน 

4. กระบวนการอัด (pelleting process) คือ กระบวนการที่จะมีการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผสมมาแล้วมาใช้ในการอัดให้ออกมาเป็นเม็ด ซึ่งจะต้องมีเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 6-10 mm. และมีความยาวตามความเหมาะสม หรือตามที่ต้องการ  

5. กระบวนการระบายความร้อน (cooling process) คือ กระบวนการที่จะทำการระบายความร้อนให้กับเชื้อเพลิงที่ผ่านการขึ้นรูปเสร็จเรียบร้อยแล้ว การทำเช่นนี้ก็เพื่อเป็นการช่วยให้เชื้อเพลิงเย็นตัวลง และมีรูปทรงที่คงที่ 

6. กระบวนการบรรจุ (packing process) คือ กระบวนการที่จะนำเชื้อเพลิงที่ผ่านการอัดเม็ด และผ่านกระบวนการผลิตครบเรียบร้อยแล้ว มาบรรจุลงในถุง หรือหีบห่อตามที่ต้องการ 

คุณสมบัติของเชื้อเพลิงอัดเม็ด 

1. ค่าความร้อน (heat value) ในส่วนนี้ค่าความร้อนของเชื้อเพลิงจะต้องอยู่ที่ 3,800-4,300 kcal/kg ซึ่งทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเรื่องของวัตถุดิบชีวมวลที่นำมาใช้ในการผลิต 

2. ค่าความชื้น (moister content) ในส่วนนี้ค่าความชื้นของเชื้อเพลิงจะต้องอยู่ที่ต่ำกว่าร้อยละ 10 

3. ค่าความหนาแน่น (bulk density) ในส่วนนี้ค่าความหนาแน่นของเชื้อเพลิงจะต้องอยู่ที่ 600-700 kg/m3 

4. ปริมาณขี้เถ้า (ash content) ในส่วนนี้ปริมาณขี้เถ้าในเชื้อเพลิงจะต้องอยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 3 

5. ปริมาณกํามะถัน (sulfur) ในส่วนนี้ปริมาณกํามะถันในเชื้อเพลิงจะต้องอยู่ที่ร้อยละ 0.1-0.2  

จากทั้งหมดที่กล่าวมานี้เอง ก็เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับเชื้อเพลิงอัดเม็ด ที่คงจะช่วยทำให้เข้าใจได้มากขึ้นแล้วว่า เชื้อเพลิงชนิดนี้คืออะไร ทำมาจากอะไร มีกระบวนการผลิตอย่างไร และมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง